นักวิจัย
ดร.ณัฎฐิกา แสงกฤช และคณะ
ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
โรคติดเชื้อที่ผิวหนังจากเชื้อราในสัตว์เลี้ยง เป็นโรคที่สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ และในปัจจุบันผู้คนนิยมเลี้ยงสัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น ทำให้มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการติดต่อกันได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการรักษาและผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ต้านเชื้อราส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของยาหรือสารเคมีที่มีผลข้างเคียงต่อตับ กระเพาะอาหารและลำไส้ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างแพง เนื่องจากยาบางตัวต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และจากข้อจำกัดนี้ทางทีมวิจัยจึงได้มีแนวคิดที่จะนำสารสกัดจากสมุนไพรมีอยู่ภายในประเทศ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อราและช่วยลดอาการของโรคเชื้อราบนผิวหนังของสัตว์เลี้ยงได้ และไม่ก่อให้เกิดอันตราย และส่งผลเสียต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยการนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตและนำส่งสารสำคัญ ผลงานวิจัยนี้เป็นการใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติ 2 ชนิด คือ ซาโปนิน และทองพันชั่ง มาเตรียมในรูปของอนุภาคนาโนเพื่อเพิ่มความสามารถในการซึมผ่านชั้นผิวหนัง จึงสามารถเพิ่มความสามารถในการรักษาเชื้อราที่เกิดบนผิวหนังของสัตว์เลี้ยงได้ดีขึ้น และยังสารมารถพัฒนาไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง เนื่องจากมีกรรมวิธีการผลิตที่ง่ายและค่าใช้จ่ายไม่สูง ด้วยมีวิธีการเตรียมที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ทันที
คุณสมบัติและจุดเด่นของเทคโนโลยี
- การเตรียมสารสกัดจากพืชสมุนไพรในรูปแบบอนุภาคนาโน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อราเพิ่มขึ้น
- ลดการใช้สารเคมี โดยใช้สารสกัดจากธรรมชาติ จึงทำให้ไม่เกิดการระคายเคือง และมีความปลอดภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
- ลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็นสเปรย์ สะดวกในการใช้งานและพกพา
- การกักเก็บสาระสำคัญในอนุภาคนาโนเป็นการลดสี และกลิ่นของสารสำคัญ อีกทั้งสามารถล้างออกได้ง่าย
- มีวิธีการเตรียมที่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยี จากห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับอุตสาหกรรมได้ทันที
- มีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตลาด
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
- อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1903001161 ยื่นคำขอวันที่ 10 พฤษภาคม 2562 เรื่อง องค์ประกอบนาโนอิมัลชันสำหรับต้านเชื้อราที่ผิงหนังของสัตว์เลี้ยง ที่มีส่วนผสมของสารสกัดทองพันชั่ง (Rhinacanthus nasutus (L.) Kurz) และซาโปนิน (Saponin) และกรรมวิธีการเตรียมนาโนอิมัลชันดังกล่าว
สถานภาพของผลงานวิจัย
- ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ
ความร่วมมือที่เสาะหา
- เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ
