นักวิจัย
ดร.ชญานนท์ โชติรสสุคนธ์
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
เนื่องจากลิกนินเป็นองค์ประกอบหลักที่มีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 โดยน้ำหนักแห้งของชีวมวลจากภาคการเกษตรเกือบทุกชนิด การสร้างมูลค่าให้กับองค์ประกอบดังกล่าวโดยประยุกต์ใช้คุณสมบัติเชิงหน้าที่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่จะมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพภายในประเทศ โดยลิกนินดังกล่าวจะสามารถคุ้มทุนและมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับ Industrial scale ได้ต่อเมื่อลิกนินที่เป็นผลิตภัณฑ์ร่วมดังกล่าวมีมูลค่าไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 75 บาท และมีปริมาณความต้องการมากพอกับกำลังการผลิต
ทีมวิจัยจึงได้นำเอาลิกนินจากนวัตกรรมการผลิตแบบไร้ของเสียที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาสร้างมูลค่าโดยใช้เป็นเม็ดสีทดแทน ทดแทนเม็ดสีจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีการเก็บเกี่ยวในลักษณะเฉพาะ ควบคุมคุณภาพได้ยากทั้งจากอุณหภูมิ และพีเอช อีกทั้งปริมาณไม่เพียงพอต่อการขยายขนาดในระดับอุตสาหกรรมและพัฒนาเป็นสินค้า รวมทั้งทดแทนสารให้สีทางเคมีจากการนำเข้าจากต่างประเทศ (จีน-อินเดีย) ซึ่งเป็นสารให้สีโทนน้ำตาลประเภทออกไซด์โลหะ มีแหล่งที่มาจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก โดยทั้งเม็ดสีจากธรรมชาติ และสารให้สีจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่ ยังขาดจุดเด่นเฉพาะตัวในคุณสมบัติเชิงหน้าที่เช่นการต้านรังสี UV และการยับยั้งแบคทีเรีย ทำให้ไม่สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างในการนำไปใช้งาน
คุณสมบัติและจุดเด่นเทคโนโลยี
เม็ดสีจากอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Lignin) เป็นองค์ประกอบหลักที่พบได้ในวัตถุดิบชีวมวลจากภาคการเกษตรเกือบทุกชนิด ถึงร้อยละ 20 โดยน้ำหนักแห้งขึ้นไป และยังมีโครงสร้างซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษเพื่อป้องกันเซลล์พืชจากรังสียูวี และจุลินทรีย์ก่อโรค การสร้างมูลค่าให้ Lignin สามารถช่วยลดการเผาในที่โล่งอันเป็นสาเหตุของมลภาวะทางอากาศ อีกทั้ง Lignin ยังมีกรรมวิธีการผลิตที่ควบคุมคุณภาพได้ สามารถประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาสินค้าในระดับอุตสาหกรรมที่มีความต่อเนื่องได้ ทั้งผลิตภัณฑ์แฟชั่น เครื่องนุ่งห่ม และสิ่งทอ โดยใช้ Lignin เป็นสีย้อมหรือสีสกรีน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า สร้างจุดขายที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรภายในประเทศ เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรมฐานชีวภาพซึ่งมีมูลค่าสูงและสังคม Carbon neutrality ในอนาคต ผ้าซึ่งย้อมหรือสกรีนด้วยสี Lignin จากวัตถุดิบภาคการเกษตรภายในประเทศ สามารถป้องกันการส่องผ่านของรังสียูวีได้เหนือกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไปถึง 50-90% ขึ้นอยู่กับเฉดความเข้มของผลิตภัณฑ์และสามารถยับยั้งการเจริญของแบคทีเรีย ซึ่งอาจต่อยอดไปสู่คุณสมบัติการลดกลิ่นอับของเนื้อผ้า อีกทั้งยังมีความคงทนต่อการเสื่อมคุณภาพด้วยแสงแดดและการซักล้าง โดยผลวิเคราะห์ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และจะเปิดเผยในเอกสารวิชาการ เพื่อเป็นการส่งเสริมการสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ต่อไป
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
- อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2403003049 วันที่ยื่นคำขอ 16 กันยายน 2567 เรื่อง สีย้อมผ้าเชิงหน้าที่จากลิกนิน และกรรมวิธีการย้อมผ้าโดยการใช้สีย้อมผ้าเชิงหน้าที่จากลิกนินดังกล่าว
สถานภาพของผลงานวิจัย
- ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
ความร่วมมือที่เสาะหา
- เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ/ผู้ร่วมทดสอบ



