นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

ระบบเอนไซม์และจุลินทรีย์: เทคโนโลยีสะอาดสำหรับกระบวนการผลิตน้ำตาลเชิงหน้าที่

ติดต่อสอบถาม
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) 
นักวิจัย
ดร.เบญจรัตน์ บรรเทิงสุข ดร. ศรีสกุล ตระการไพบูลย์ และ ดร. วีระวัฒน์ แช่มปรีดา 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา 

อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ คิดมูลค่าการส่งออกมากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามการผลิตและการส่งออกส่วนใหญ่นั้นจะอยู่ในรูปวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ขั้นต้นที่มีมูลค่าต่ำ ทั้งยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งราคาตลาดที่ผันผวน การเติบโตของตลาดพลังงานที่ลดลง กฎระเบียบด้านคาร์บอนที่เข้มข้นขึ้น และการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้ภาคเอกชนในอุตสาหกรรมจำเป็นต้องมีการปรับตัว โดยใช้กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบทางการเกษตร ปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพและไบโอรีไฟเนอรี ซึ่งจัดเป็นอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ (Biobased industry) ที่เป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตรไปสู่ผลิตภัณฑ์และสารมูลค่าสูงที่หลากหลาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเชิงเศรษฐศาสตร์ ตอบโจทย์การลดการปลดปล่อยคาร์บอน และมุ่งสู่เป้าหมาย Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อความยั่งยืนในเชิงธุรกิจ 

น้ำตาลเพิ่มมูลค่าและอนุพันธ์ (Next sugars and derivatives) ซึ่งเป็นน้ำตาลเชิงหน้าที่ (Functional sugars) ในรูปของโมโนและไดแซคคาไรด์ที่มีโครงสร้างแตกต่างกับน้ำตาลบริโภคทั่วไป หรืออนุพันธ์ของน้ำตาลเช่น sugar alcohol และ sugar ester หรือน้ำตาลในรูปโอลิโกแซคคาไรด์ ที่มีคุณสมบัติเป็นสารให้ความหวานทดแทนที่มีแคลอรีต่ำ และมีคุณสมบัติอื่นๆ เช่น คุณสมบัติพรีไบโอติก หรือปรับสมดุลจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร หรือทำหน้าที่เป็นสารเติมแต่งเพื่อสร้างคุณสมบัติพิเศษในผลิตภัณฑ์ต่าง เช่น อาหาร เครื่องสำอาง หรือเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการตอบโจทย์การเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล และมันสำปะหลัง ต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพ โดยน้ำตาลกลุ่มนี้สามารถผลิตจากน้ำตาลซูโครส กลูโคส หรือน้ำตาลทั่วไปชนิดอื่นๆ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในกลุ่มลิกโนเซลลูโลส โดยปัจจุบันน้ำตาลฟังก์ชั่นเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงทั้งในและนอกประเทศ โดยมีมูลค่ารวมถึง 2,667 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายทั้งในทางอุตสาหกรรรมอาหาร เครื่องสำอาง เภสัชกรรม เป็นต้น  

คุณสมบัติและจุดเด่นเทคโนโลยี 

จุดเด่นของเทคโนโลยีการออกแบบเอนไซม์ซึ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพและการพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ รวมถึงชีวกระบวนการเพื่อการผลิตน้ำตาลเชิงหน้าที่และอนุพันธ์ เป็นกระบวนการที่มีความจำเพาะสูง ปริมาณผลผลิตพลอยได้ (Byproducts) ต่ำ กระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล มันสำปะหลัง และอุตสาหกรรมชีวภาพ 

สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา 
  1. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 20286 วันที่ได้รับสิทธิบัตร 27 ตุลาคม 2565 เรื่อง สูตรเอนไซม์ผสมสำหรับดัดแปรโครงสร้างของเพคตินและกระบวนการดัดแปรโครงสร้างของเพคตินด้วยสูตรเอนไซม์ผสมนั้น
  2. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 24331 วันที่ได้รับสิทธิบัตร 27 สิงหาคม 2567 เรื่อง กระบวนการผลิตน้ำตาลไซโลสจากชีวมวลทางการเกษตรโดยใช้น้ำร้อนความดันสูงร่วมกับเอนไซม์
  3. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 19481 วันที่ได้รับสิทธิบัตร 28 มีนาคม 2565 เรื่อง กรรมวิธีดัดแปรโครงสร้างของเพคตินที่สกัดจากเปลือกส้มโอส่วนขาว
  4. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 20285 วันที่ได้รับสิทธิบัตร 27 ตุลาคม 2565 เรื่อง วิธีการผลิตมอลโตโอลิโกแซคคาไรด์ด้วยเอนไซม์อะไมเลสจาก Bacillus koreensis
  5. อนุสิทธิบัตร เลขที่ 24415 วันที่ได้รับสิทธิบัตร 12 กันยายน 2567 เรื่อง กรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรีฮาโลสโดยใช้เอนไซม์ทรีฮาโลสซินเทสรูปแบบรีคอมบิแนนท์
  6. อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2403002717 วันที่ยื่นคำขอ 26 สิงหาคม 2567 เรื่อง กรรมวิธีการผลิตน้ำตาลทรีฮาโลสแบบขั้นตอนเดียว
  7. อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2303002333 วันที่ยื่นคำขอ 23 สิงหาคม 2566 เรื่อง กรรมวิธีการผลิตไซโลโอลิโกแซคคาไรด์จากไซแลนสกัดจากชานอ้อย
  8. สิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2101005196 วันที่ยื่นคำขอ 1 กันยายน 2564 เรื่อง ยีสต์ Candida tropicalis สายพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีประสิทธิภาพในการผลิตไซลิทอลและกระบวนการผลิตไซลิทอลด้วยยีสต์ดังกล่าว
สถานภาพของผลงานวิจัย 
  • ต้นแบบในระดับห้องปฏิบัติการ 
ความร่วมมือที่เสาะหา 
  • ผู้รับอนุญาตใช้สิทธิและถ่ายทอดเทคโนโลยี