นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

ชีวภัณฑ์และกับดักชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้ 

ติดต่อสอบถาม
สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) 
นักวิจัย
ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน สมฤทัย ใจเย็น นุชนัดดา วิเชียรโชติ รัศมี หวะสุวรรณ 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา 

แมลงวันผลไม้ (Bactrocera dorsalis) เป็นแมลงศัตรูพืชที่มีความสำคัญมากของการปลูกพืชเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาหลักในการกีดกันทางการค้าส่งออกไม้ผลของประเทศไทยไปยังประเทศคู่ค้า ซึ่งเป็นข้อจำกัดในเรื่องของศัตรูพืชกักกันตามมาตรฐานสุขอนามัยพืช โดยสร้างความเสียหายต่อผลไม้เศรษฐกิจของไทยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้คุณภาพของผลผลิตตกต่ำ และขายไม่ได้ราคา ส่งผลให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงวันผลไม้ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายกับเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีจำกัดศัตรูพืชเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดสารพิษตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร และยังส่งผลกระทบในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของเกษตรกรที่ใช้สารเคมี ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศ โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชไปทำลายแมลงศัตรูตามธรรมชาติของแมลงศัตรูพืช นอกจากนี้การใช้สารเคมีเพียงชนิดเดียวติดต่อกันยาวนานยังส่งผลให้แมลงศัตรูพืชเกิดการต้านทานต่อสารเคมี ด้วยเหตุผลดังกล่าวการควบคุมโดยชีววิธี (biocontrol) อย่างการใช้ชีวภัณฑ์สามารถลดปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งยังอนุรักษ์แมลงศัตรูธรรมชาติที่มีประโยชน์ นอกจากนี้การใช้ชีวภัณฑ์ยังช่วยลดการตกค้างของสารเคมีบนผลผลิตและในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภครวมถึงสุขภาพของเกษตรกรผู้ปลูกเอง  

คณะผู้วิจัยได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของกับดักชีวภัณฑ์ราบิวเวอเรีย สายพันธุ์ BCC 2660 (Beauveria bassiana) และราเมตาไรเซียม สายพันธุ์ BCC 4849 (Metarhizium anisopliae) ในระดับห้องปฏิบัติการ โรงเรือน และแปลงทดสอบ ซึ่งสามารถควบคุมแมลงวันผลไม้แมลงศัตรูสำคัญในพืชเศรษฐกิจหลายชนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

คุณสมบัติและจุดเด่นเทคโนโลยี 
  1. เชื้อจุลินทรีย์ราแมลงที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการใช้ประโยชน์เพื่อการควบคุมแมลงวันผลไม้ 
  2. กระบวนการผลิตเชื้อจุลินทรีย์มีขั้นตอนและวิธีการผลิตที่ไม่ยุ่งยาก สะดวกรวดเร็ว และต้นทุนต่ำ  
  3. รูปแบบกับดักเป็นแบบดักและปล่อยแมลงที่ติดเชื้อออกไปจากกับดัก เพื่อแพร่กระจายราแมลงจากแมลงที่ติดเชื้อสู่ตัวปกติ ซึ่งสามารถควบคุมแมลงวันผลไม้ทั้งตัวที่เข้ากับดักหรือไม่ได้เข้ากับดักได้อย่างต่อเนื่อง 
  4. การเพิ่มราแมลงในกับดัก เพื่อถ่ายทอดสู่ประชากรแมลงวันผลไม้ในธรรมชาติ 
  5. การมีสารเสริมประสิทธิภาพที่เหมาะสม ยืดอายุราแมลงให้คงอยู่ได้ในสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ 
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา 
  • อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2403002839 วันที่ยื่นคำขอ 3 กันยายน 2567 เรื่อง ชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้และกับดักชีวภัณฑ์สำหรับควบคุมกำจัดแมลงวันผลไม้ดังกล่าว 
  • ความลับทางการค้า 
สถานภาพของผลงานวิจัย 
  • ต้นแบบระดับภาคสนามได้ถูกทดสอบในสภาวะจริง 
ความร่วมมือที่เสาะหา 
  • เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ/ผู้ร่วมทดสอบ/หรือร่วมพัฒนากับดักชีวภัณฑ์เวอร์ชั่นใหม่ /

ลักษณะของราแมลงแบบเชื้อสดสำหรับใช้ในกับดักชีวภัณฑ์ ราบิวเวอเรีย สายพันธุ์ BCC 2660
มีลักษณะสปอร์สีขาว และราเมตาไรเซียม สายพันธุ์ BCC 4849 สปอร์ลักษณะสีเขียว 

ลักษณะภายนอกและภายในของตัวอย่างกับดักชีวภัณฑ์สำหรับใช้ควบคุมแมลงวันผลไม้ 

ลักษณะของแมลงวันผลไม้ที่ถูกทำลายด้วยราแมลง ราบิวเวอเรีย สายพันธุ์ BCC 2660
มีลักษณะสปอร์สีขาว และราเมตาไรเซียม สายพันธุ์ BCC 4849 สปอร์ลักษณะสปอร์สีเขียว