Hydrogen Economy
จากวิกฤตการณ์น้ำมันและปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการตระหนักถึงการเร่งหาแหล่งพลังงานใหม่ขึ้นมาเพื่อทดแทนแหล่งพลังงานจากฟอสซิล เช่น น้ำมันหรือถ่านหิน และในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มแรงกดดันมากขึ้นในการพัฒนาทางด้านพลังงานที่ลดการก่อมลพิษ ดังนั้นจึงมีงานวิจัยจำนวนมากได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อที่จะหาแหล่งพลังงานทดแทนดังกล่าว ไฮโดรเจนถือเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพสูง สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายทั้งในการผลิตไฟฟ้าและเป็นแหล่งสำรองพลังงานสำหรับระบบไฟฟ้าในอนาคต นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะประเภทเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle, FCEV) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล
ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ได้วิจัยและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากแหล่งวัตถุดิบที่หลากหลาย เช่น ไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) ซึ่งเป็นไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการทางชีวภาพโดยใช้จุลินทรีย์หรือสาหร่ายบางชนิดในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนจากสารอินทรีย์ เช่น ของเสียทางการเกษตร น้ำเสีย หรือ ชีวมวล วิธีนี้ช่วยลดของเสียและเป็นอีกแนวทางในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไฮโดรเจนยังสามารถผลิตได้จากกระบวนการแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Electrolysis) โดยใช้พลังงานหมุนเวียน (Green Hydrogen) หรือการสกัดจากก๊าซธรรมชาติและชีวมวล กระบวนการผลิตที่ลดหรือไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้ช่วยให้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานที่มีความยั่งยืน ด้วยความสามารถในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไฮโดรเจนและไฮโดรเจนชีวภาพจึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญที่อาจช่วยเปลี่ยนผ่านโลกไปสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยการนำวัตถุดิบชีวมวล (Bioeconomy) เพื่อมาผลิตเป็นพลังงานสะอาด (Green Economy) ซึ่งจะเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศด้วย

การผลิต H2 โดยใช้ก๊าซชีวภาพจากขยะ

จุดเด่น
- พลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไฮโดรเจนไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเมื่อนำมาใช้เป็นพลังงาน ไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) มาจากกระบวนการทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- ใช้งานได้หลากหลาย ใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองในระบบผลิตไฟฟ้า ใช้ในยานยนต์เซลล์เชื้อเพลิง
ที่มีประสิทธิภาพสูงและปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ - ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ไฮโดรเจนชีวภาพช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากแหล่งฟอสซิล และส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน
- สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ส่งเสริมอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่
การนำไปใช้ประโยชน์
อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาเพื่อขยายกำลังการผลิต และ กำลังหารือเพื่อร่วมวิจัยกับบริษัทเอกชน เช่น Toyota
กลุ่มเป้าหมาย
ผู้ใช้ประโยชน์เทคโนโลยีไฮโดรเจนมีความหลากหลายและครอบคลุมหลายภาคส่วน เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง และภาคครัวเรือน