นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

การส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังและนักเรียนพิการตามพระราชดำริ

ติดต่อสอบถาม
นางสาวกัญรินทร์ ละอองกุลพลวัต
ผู้ประสานงาน ฝ่ายประสานงานหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากำลังคนและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

การส่งเสริมทักษะโค้ดดิ้งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ผู้ต้องขังและนักเรียนพิการตามพระราชดำริ

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยฝ่ายประสานงานหน่วยงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนากำลังคนและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เห็นความสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งให้กับผู้ต้องขังและนักเรียนพิการเรียนเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษาและอาชีพอย่างเท่าเทียม ตามแนวพระราชดำริของของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเห็นความสำคัญในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชน พัฒนาคุณภาพและศักยภาพของเด็กไทยในชนบท เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสในสังคม

การส่งเสริมการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สำหรับนักเรียนพิการ

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับ สวทช. ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนการสอนโค้ดดิ้งสำหรับนักเรียนพิการในโรงเรียนนำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน 10 โรงเรียน ตั้งแต่ปี 2561 โดยอบรมพัฒนาความรู้ให้แก่ครูและนักเรียนพิการในการใช้งานบอร์ด KidBright ผลงานวิจัยของเนคเทค ตั้งแต่ขั้นพื้นฐานจนถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว มีการพัฒนาต่อยอดความรู้ให้กับครูและนักเรีนพิการอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งการเรียนรู้เรื่องวิทยาการข้อมูลผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright ในปี 2566 – 2567 ได้ดำเนินการพัฒนาต่อยอดความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว โดยจัดอบรมตั้งแต่พื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และ Machine Learning จนถึงการเรียนรู้การพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ผ่าน KidBright AI Platform และบอร์ด KidBright μAI ส่งผลให้ครูและนักเรียนสามารถพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวที่มีการใช้ AI ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือคนพิการและการดำเนินชีวิตประจำวันได้ และมีการนำผลงานไปประกวดในเวทีต่าง ๆ ร่วมกับนักเรียนทั่วไปและได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาติ

นักเรียนเรียนรู้การใช้ KidBright AI Platform และบอร์ด KidBright AI

นักเรียนเรียนรู้การใช้โปรแกรม PictoBlox AI ร่วมกับบอร์ด Arduino 

ผลงานนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการ
ผลงาน “Finger spelling trainer for hearing Impaired students using AI (เครื่องฝึกสะกดนิ้วมือสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินด้วย AI)” ของ นักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ได้รับรางวัลระดับประเทศและนานาชาดิ
  • รางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 1 จากเวที Coding Wall สมรภูมิไอเดียด้านโค้ดดิ้ง จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 1,500 ทีม
  • รางวัล 3 รางวัล จากเวที “Seoul International Invention Fair 2024” (SIIF 2024) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดโดย Korea Invention Promotion Association (KIPA) สมาคมส่งเสริมการประดิษฐ์ของสาธารณรัฐเกาหลี ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลี มีผู้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานกว่า 1,000 ผลงาน จากองค์กรประเทศต่างๆ กว่า 30 ประเทศทั่วโลก
    • รางวัล WIPO National Award for Creativity จาก World Intellectual Property Organization (WIPO) มอบโดย KIPA และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก : ยกย่องความเป็นเลิศด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม
    • รางวัล Gold Prize จาก Seoul International Innovation Fair 2024 
    • รางวัล NRCT SPECIAL AWARD จาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ผลงานโครงงานเครื่องดูแลพืชอัจฉริยะด้วย AI (AI-Powered Smart Plant Care System) ของนักเรียนโรงเรียนเศรษฐเสถียร ที่มีการใช้บอร์ด  KidBright AI ในการพัฒนาผลงาน

ผลงานโครงงานเครื่องคัดแยกผลไม ด้วยบอร์ด KidBrigt AI ของนักเรียนโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง “เกษตรอัจฉริยะ: โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่”

มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ ดำเนินโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ นำไปใช้ในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์

ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ สร้างโอกาสใหม่ให้ผู้ต้องขัง ปี 2567 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยสถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน (บพค.) เพื่อดำเนินโครงการ “พัฒนาเยาวชนสมรรถนะสูงด้าน Coding เพื่อประยุกต์ใช้ในแบบเสมือนจริง (ผ่าน Application) หรือในเชิงพื้นที่ สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ และมีความรู้ความสามารถด้าน Business Model เพื่อการบริการด้านเกษตรอัจฉริยะ”ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ได้คัดเลือกเรือนจำเรือนจำต้นแบบด้านเกษตรอัจฉริยะ เข้าร่วมโครงการ 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำชั่วคราวหนองกระทิง จ.ลำปาง เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย จ.หนองบัวลำภู ต่อมา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯร่วมกับทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตร “เกษตรอัจฉริยะ: โอกาสในการสร้างอาชีพใหม่” โดยมีผู้ต้องขังเข้าร่วม 80 คน เพื่อเสริมสร้างทักษะด้าน การประกอบและติดตั้งอุปกรณ์ HandySense การติดตั้งระบบไฟในกล่อง HandySense การแก้ไขปัญหาการติดตั้งในพื้นที่จริง ระบบน้ำและการคำนวณปริมาณการใช้น้ำในแปลงเกษตร

ประโยชน์ที่ผู้ต้องขังได้รับ

เพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพหลังพ้นโทษ  สามารถทำงานด้านการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเกษตรอัจฉริยะ และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างอาชีพที่ยั่งยืน

ผู้ต้องขังเรียนการต่อไฟ และต่อชุดอุปกรณ์ HandySense พร้อมทั้งนำเสนอผลงานการออกแบบระบบน้ำ