นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)

ติดต่อสอบถาม
National AI Strategy

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570)” ถูกจัดทำขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวง คือ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้เป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและนําไปสู่การยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน ผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน แผนปฏิบัติการฉบับนี้ได้ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการฉบับนี้ โดยมีส่วนร่วมในการสนับสนุนและขับเคลื่อนโครงการสำคัญต่าง ๆ โดยสังเขป ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 2 โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI ประกอบด้วย
  • Supercomputer : ให้บริการเทรนแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ด้วย Supercomputer ชื่อ Lanta High Performance Computing ซึ่งปัจจุบันมีประสิทธิภาพการคำนวณสูงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียนและเป็นอันดับที่ 142 ของโลก (จัดอันดับโดย https://top500.org/ เมื่อ พฤศจิกายน 2567) ทั้งนี้เป็นการให้บริการแบบคิดค่าใช้จ่ายโดยมีส่วนลดสำหรับหน่วยงานในไทย 
    รายละเอียดเพิ่มเติม : https://thaisc.io/
  • AI Platform : ร่วมสนับสนุนบริการแพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติซึ่งปัจจุบันให้บริการผ่าน GDCC หรือ Government Data Center and Cloud Service โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ปัจจุบันแพลตฟอร์มแห่งนี้มี AI API จาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตรให้นักพัฒนานำไปใช้งานมากกว่า 60 API มีสถิติการเรียกใช้งาน API มากกว่า 1 ล้านครั้งต่อเดือน โดยตัวอย่างบริการที่ได้รับความนิยม คือ การแปลงเสียงพูดเป็นข้อความ Chatbot
    รายละเอียดเพิ่มเติม : https://nationalai.in.th/
  • AI Standard & Benchmark :
    • AI Standard : การเปิดให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ตามมาตรฐานสากลด้วยห้องปฏิบัติการทดสอบซอฟท์แวร์แห่งแรกของประเทศไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการทดสอบและสอบเทียบ มอก.17025 (ISO/IEC17025) โดยให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ปัญญาประดิษฐ์ คือ 
      • Medical Device Software (+AI SaMD)
      • Biometric Software 
      • AI Testing (เปิดให้บริการในอนาคต)
    • AI Benchmark : การให้บริการคลังข้อมูลแบบเปิดสำหรับทดสอบประสิทธิภาพปัญญาประดิษฐ์ เพื่อใช้เป็นชุดข้อมูลทดสอบที่เป็นมาตรฐาน ประกอบด้วย 4 ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาษาไทย ได้แก่
      • ชุดข้อมูลสำหรับสร้างต้นไม้ไวยากรณ์ภาษาไทย 
      • ชุดข้อมูลแปลภาษาอังกฤษ-ไทย ประกอบด้วย ไฟล์ข้อความคู่ภาษา 
      • ชุดข้อมูลสำหรับการสร้างบทกำกับภาพ ประกอบด้วย ไฟล์ภาพ และไฟล์ข้อความคำบรรยายภาพ 
      • ชุดข้อมูลเสียงการสนทนา ประกอบด้วย ไฟล์เสียง (.wav) และไฟล์ข้อความถอดเสียง
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากำลังคนด้าน AI ประกอบด้วย
  • AI Human Resource Development : ผ่านโครงการ Super AI Engineer ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาทักษะ AI สำหรับประชาชนไทยทั่วประเทศ โดยมีสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยเป็นหัวหน้าโครงการ ดำเนินการร่วมกับเครือข่ายหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้ทุนสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
    รายละเอียดเพิ่มเติม : https://superai.aiat.or.th/
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้าน AI ประกอบด้วย 4 โครงการสำคัญทางด้าน AI
  • TPMAP-AI : “ระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP)” ถูกพัฒนาและดำเนินการร่วมกันโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับ สวทช. โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้เป้าคนจนในมิติต่าง ๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือและช่วยให้รัฐสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ปัจจุบันได้มีการยกระดับความสามารถของระบบโดยนำ AI มาช่วยเพิ่มความสามารถในการออกแบบนโยบายให้มีความจำเพาะและลำดับความสำคัญของการให้ความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
  • Biometric : “ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีรู้จำลายม่านตา” เป็นระบบเว็บแอปพลิเคชันของสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย พัฒนาโดย สวทช. เพื่อนำไปใช้เพื่อการลงทะเบียนบุคคลจากอัตลักษณ์ทางกายภาพโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเอกสารประจำตัว ตอบโจทย์การลงทะเบียนกลุ่มชาวต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารประจำตัว หรือมีเอกสารประจำตัวแต่อาจจะมีการแอบอ้างหรือสวมสิทธิในการขอรับบริการสาธารณสุข โดยการตรวจสอบด้วย AI ในการอ่านลายม่านตาและใบหน้าจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถยืนยันตัวตนผู้ขอรับบริการได้อย่างแม่นยำ
  • Medical AI : “แพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดสำหรับ AI ด้านการแพทย์” 
    เป็นแพลตฟอร์มที่ดำเนินการร่วมกันระหว่าง สวทช. กรมการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีจุดมุ่งเพื่อพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมเทคโนโลยี สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ภายในแพลตฟอร์มประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1) เทคโนโลยีสำหรับ จัดเก็บและแบ่งปันภาพถ่ายทางการแพทย์จากทั่วประเทศ 2) เทคโนโลยี กำกับข้อมูลภาพถ่ายให้อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้ผลิตโมเดล AI และ 3) เทคโนโลยี สำหรับผลิตโมเดล AI ในรูปแบบใช้งานง่าย เพื่อลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการผลิต
  • ThaiLLM : “โมเดลภาษาพื้นฐานขนาดใหญ่สำหรับภาษาไทย” ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI แบบเปิด (Open Source) เพื่อช่วยลดต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยี Generative AI รวมถึงบริการและนวัตกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการนำ LLM ไปใช้ประโยชน์ต่อยอด เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม AI ภายในประเทศให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป