นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

การผลิตข้าวเพื่ออุตสาหกรรมและแปรรูป สู่ความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ติดต่อสอบถาม
ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (APBT) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค)
โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) สวทช.

นวัตกรรมพันธุ์ข้าวใหม่และการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง (ต้นน้ำ)

ที่มาการวิจัย

การผลิตข้าวต้องเผชิญกับความท้าทายสำคัญ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคและแมลงศัตรูพืชที่เพิ่มขึ้น และความต้องการข้าวคุณภาพสูงจากผู้บริโภค ซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทำให้เกิดความจำเป็นในการพัฒนานวัตกรรมด้านพันธุ์ข้าวและการผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการเพิ่มผลผลิตและรักษาความมั่นคงทางอาหาร โดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพและการเกษตรแบบแม่นยำ เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช รวมถึงสามารถปรับตัวต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ดี นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการของข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ และข้าวที่มีสารอาหารสูง ดังนั้น งานวิจัยนี้จึงมุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถผลิตข้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงในการเพาะปลูก และสร้างความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว

การใช้ประโยชน์
  • เพิ่มผลผลิตข้าว: การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่น ความต้านทานต่อโรคหรือความทนทานต่อความแห้งแล้ง ทำให้เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย
  • ปรับปรุงคุณภาพข้าว: การพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอม ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง (ข้าวกล้อง หรือ ข้าวที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง) สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์
  • การพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม: พันธุ์ข้าวใหม่สามารถเลือกปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน เช่น พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง หรือพื้นที่ที่ประสบกับภัยแล้ง โดยพันธุ์ข้าวใหม่จะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพันธุ์เดิม
  • การเพิ่มความต้านทานโรคและแมลง: การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ทนทานต่อโรคและแมลงศัตรูพืช เช่น โรคใบไหม้ ข้าวกล้าตาย หรือแมลงที่ทำลายต้นข้าว ทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีมากเกินไป ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพสูง: เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพสูงมีอัตราการงอกที่สูง และให้ผลผลิตที่ดี ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นคงในการผลิตข้าวของเกษตรกร รวมถึงลดความเสี่ยงจากโรคและศัตรูพืช
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้า: การใช้พันธุ์ข้าวใหม่ที่มีคุณภาพสามารถสร้างรายได้ที่สูงขึ้นให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในการส่งออกข้าวที่มีคุณภาพสูงไปยังตลาดต่างประเทศ
ภาพและกราฟิก (Images and Graphics)

ข้อมูลติดต่อ (Contact Information)

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (APBT)

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 

อีเมล acbg-apbt@biotec.or.th

เบอร์โทร. 02 564 6700


การผลิตข้าวเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: ข้าวคาร์บอนต่ำ (กลางน้ำ)

ที่มาการวิจัย

การผลิตข้าวอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมุ่งเน้นการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการปลูกข้าว ผ่านการลดการใช้สารเคมีและพลังงานในทุกขั้นตอน ตลอดจนการบริหารจัดการที่เหมาะสมเพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างเสถียรภาพให้กับภาคการเกษตร โดยแนวทางดังกล่าวเกิดขึ้นจากการตระหนักถึงปัญหาต่างๆ เช่น การใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพต่ำ การใช้สารเคมีอย่างไม่เหมาะสม การใช้น้ำเกินความจำเป็น และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต การพัฒนาเทคนิคการผลิตข้าวที่ยั่งยืนจึงเน้นการใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การปรับปรุงเทคนิคการเกษตรเพื่ออนุรักษ์ดิน น้ำ และพลังงาน รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยหนึ่งในแนวทางสำคัญของการผลิตข้าวที่ยั่งยืนคือ “ข้าวคาร์บอนต่ำ” (Low Carbon Rice) ซึ่งหมายถึงข้าวที่ผลิตผ่านกระบวนการเกษตรที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการปล่อยคาร์บอนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่สายพันธุ์ วิธีการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยวตลอดจนการแปรรูปข้าว ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมมาตรฐานการผลิตในระดับสากล นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร สร้างโอกาสในการแข่งขัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน การพัฒนาข้าวคาร์บอนต่ำอาศัยการบูรณาการพันธุ์ข้าวใหม่เข้ากับนวัตกรรมทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้แก่ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และเกษตรกรเพื่อลดความเสี่ยงในการผลิต

การใช้ประโยชน์
  • การเลือกพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมและเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี: การใช้พันธุ์ข้าวที่มีความทนทานต่อสภาพอากาศแปรปรวน ต้านทานต่อโรคและแมลง และเป็นสายพันธุ์ที่มีความบริสุทธิ์สูง เพื่อลดขั้นตอนในการดูแล ต้นทุนการผลิต พร้อมกับการมีผลผลิตคุณภาพดี
  • การลดการใช้สารเคมี: ใช้การเกษตรอินทรีย์หรือการใช้เทคนิคการควบคุมศัตรูพืชแบบธรรมชาติ เช่น การใช้จุลินทรีย์หรือการหมุนเวียนพืชผล เพื่อลดการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตข้าว
  • การประหยัดน้ำ: การใช้เทคนิคการปลูกข้าวที่ลดการใช้น้ำ เช่น การปลูกข้าวแบบปราณีต ซึ่งช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่าเทคนิคแบบดั้งเดิม
  • การอนุรักษ์ดิน: การใช้การปลูกพืชหมุนเวียนหรือการใช้ปุ๋ยคอกและวัสดุอินทรีย์ เพื่อรักษาคุณภาพของดินและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน
  • การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก: การใช้เทคนิคการจัดการน้ำและดินที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากการทำนา เช่น การปรับการใช้ระบบน้ำให้เหมาะสมเพื่อลดการเกิดแหล่งก๊าซมีเทนในน้ำท่วมขัง
  • การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนฐานรากการผลิต: เกษตรกรสามารถสร้างรายได้ที่ยั่งยืนโดยใช้วิธีการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถสร้างตลาดใหม่ๆ ให้กับข้าวที่ผลิตแบบยั่งยืน (เช่น ข้าวอินทรีย์)
ภาพและกราฟิก (Images and Graphics)

ข้อมูลติดต่อ (Contact Information)

ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ (APBT)

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 

อีเมล acbg-apbt@biotec.or.th

เบอร์โทร. 02 564 6700


นวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าของข้าวไทยด้วยเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (ปลายน้ำ)

ที่มาการวิจัย

ตลาดความงามและสุขภาพมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้การพัฒนาและนวัตกรรมทั้งกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ให้มีความโดดเด่น และสร้างความแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในท้องตลาด ซึ่งปัจจุบัน กระแสความนิยมมุ่งสู่การใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเทคโนโลยีสีเขียว (Green technology) เทคโนโลยีชีวภาพจึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bioproducts) โดยอาศัยหลักการแปรสภาพทางชีวภาพ (biotransformation) ด้วยจุลินทรีย์ ซึ่งเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ (precision fermentation) ถือเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่มีศักยภาพสูงที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบข้าวไทยเพื่อพัฒนาและนวัตกรรมกระบวนการผลิตส่วนประกอบฟังก์ชันสำหรับเครื่องสำอางในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skin care product)

การใช้ประโยชน์

นวัตกรรมสารสกัดธรรมชาติจากข้าวหอมมะลิอินทรีย์และต้นข้าวอ่อนหมัก (Rice ferment filtrate) ภายใต้เครื่องหมายทางการค้า “ARAMARA” ประกอบด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ สารช่วยผลัดเซลล์ผิวและลดเลือนริ้วรอย รวมถึงมีฤทธิ์ต้านจุลินทรีย์ก่อโรคผิวหนัง ได้ถูกพัฒนาขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีสีเขียวที่ผนวกเทคโนโลยีการหมักแบบแม่นยำ เข้ากับกระบวนการสกัดและกระบวนการปลายน้ำที่ไม่มีการใช้สารเคมีหรือความร้อน ทำให้ “ARAMARA” มีคุณสมบัติที่ดีและโดดเด่นเหมาะกับการนำไปใช้เป็นส่วนประกอบฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ปัจจุบันได้มีการต่อยอดพัฒนาโดยนำสารสกัด “ARAMARA” ไปใช้เป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ซึ่งได้รับการจดแจ้งผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “ดร.เอจจี้ (Dr. Agei)” สำหรับผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ผลงานที่พัฒนาขึ้นดังกล่าว ได้ยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร ภายใต้ความร่วมมือระหว่างทีมวิจัยของโรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค (BIOTEC Bioprocessing Facility, BBF) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) และบริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด โดยได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. และบริษัทฯ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ประเภทแผนธุรกิจเพื่อการขยายโอกาสสินค้าข้าว จากกองพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว กรมการข้าว จากแผนธุรกิจที่นำผลงานวิจัยและพัฒนาดังกล่าวไปขยายโอกาสทางธุรกิจ

ภาพและกราฟิก (Images and Graphics)


ข้อมูลติดต่อ (Contact Information)

โรงงานต้นแบบชีวกระบวนการไบโอเทค 

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) 

กลุ่มแพลตฟอร์มบริการผลิตอาหารและส่วนผสมฟังก์ชัน (FoodSERP) สวทช.

อีเมล foodserp@nstda.or.th

เบอร์โทร 02 564 6700 ต่อ 3308