ที่มาการวิจัย
อุบัติเหตุทางถนนเป็นหนึ่งในประเด็นน่ากังวลของประเทศไทยที่สร้างความสูญเสียทั้งในแง่ของชีวิตและเศรษฐกิจต่อประเทศอย่างมหาศาล โดยองค์การอนามัยโลกประมาณการว่าอุบัติเหตุทางถนนสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 6% ของ GDP อย่างไรก็ตามพบว่า ประเทศไทยกลับยังไม่สามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ตามเป้าหมายแผนแม่บทที่ 7 โครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์และดิจิทัล ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวนมากโดยส่วนใหญ่เป็นผู้เสียชีวิตที่ขับขี่รถจักรยานยนต์คิดเป็นร้อยละ 74.5 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และในปี 2565 กว่า 14% เป็นผู้เสียชีวิตที่สวมหมวกนิรภัย (ที่มา: ฐานข้อมูลระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บ)
สภาองค์กรของผู้บริโภคเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค ซึ่งความปลอดภัยด้านการขนส่งและยานพาหนะที่รวมเรื่องสินค้าและบริการคือ 1 ใน 8 ด้านที่สภาฯขับเคลื่อนมาโดยตลอดเพราะเรื่องความปลอดภัยเป็นสิทธิที่สำคัญของผู้บริโภค สภาฯรับประกันความปลอดภัยมาตั้งแต่ปี 2522 แต่ปัจจุบันผู้บริโภคก็ยังไม่ปลอดภัย ทั้งในเรื่องการเดินทาง มาตรฐานของรถ หรืออาหาร ดังนั้น สภาฯ จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางถนนเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดกับรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต หมวกกันน็อกเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องปลอดภัย สภาฯ มีชุดข้อมูลหนึ่งว่า เด็กนักเรียนไม่สวมหมวกกันน็อก เพราะมีราคาแพงและกลัวหมวกหาย จึงเกิดคำถามว่า หมวกกันน็อกที่ปลอดภัยต้องมีราคาแพงจริงหรือ นี่จึงเป็นที่มาของการทดสอบและประเมินคุณภาพด้านความปลอดภัยของหมวกกันน็อก
โดยความร่วมมือกับเอ็มเทคนั้นสืบเนื่องมาจากการที่สภาฯ เคยร่วมงานกับทีมของ ดร.ศราวุธ (เลิศพลังสันติ) มาก่อนจึงทำให้ทราบว่าทีมวิจัยเทคโนโลยียานยนต์และการขับขี่ ศูนย์เอ็มเทค มีความเชี่ยวชาญด้านการทดสอบยานยนต์ สภาฯจึงได้ร่วมมือกับเอ็มเทคในการทดสอบประเมินหมวกกันน็อก ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้สุ่มตัวอย่างหมวกกันน็อกประเภทต่างๆจากท้องตลาดมาทดสอบจำนวน 25 ตัวอย่าง
วัตถุประสงค์
- เพื่อพัฒนาแนวทางและวิธีการนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้บริโภคเพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจเลือกหมวกนิรภัยจักรยานยนต์
การนำไปใช้ประโยชน์
กลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยที่ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ด้วยตาเปล่าและต้องอาศัยการทดสอบ เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า รถไฟฟ้า ปลั๊กชาร์จไฟ เบรกเอบีเอสของรถจักรยานยนต์ รถติดแก๊ส รวมถึงสินค้าที่ได้จากการซื้อขายออนไลน์ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่สภาฯ ต้องการให้เอ็มเทคช่วยสนับสนุนอย่างน้อยปีละ 2-3 รายการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2-3 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ ช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกและได้มาตรฐาน อีกทั้งยังช่วยยกระดับสินค้าและบริการ ส่งเสริมภาคธุรกิจให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้
- สำหรับผู้ผลิต: เป็นแนวทางการออกแบบและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและความปลอดภัยสูงขึ้น
- สำหรับผู้บริโภค: ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบและเลือกใช้หมวกกันน็อคที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่ผ่านการทดสอบจริง
กลุ่มเป้าหมาย
- ผู้บริโภคที่ต้องการเลือกซื้อหมวกกันน็อก บริษัทรถจักรยานยนต์ที่มีการแถมหมวกกันน็อกให้กับผู้ซื้อ หน่วยงานราชการและเอกชนที่มีการแจกหมวกกันน็อกให้ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการผลิตและนักออกแบบหมวกกันน็อกที่ต้องการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์
สถานะงานวิจัย
- พัฒนาเกณฑ์การประเมินโดยประยุกต์มาตรฐานสากล UN R22 และทดสอบประเมินหมวกกันน็อกโดยสุ่มจากท้องตลาดรวมทั้งสิ้น 25 รุ่น แบ่งเป็นหมวกนิรภัยประเภทครึ่งใบ จำนวน 6 รุ่น ประเภทเต็มใบเปิดหน้า จำนวน 4 รุ่น ประเภทเต็มใบปิดหน้า ป้องกันคาง 8 รุ่น ประเภทเต็มใบปิดหน้า ไม่ป้องกันคาง จำนวน 2 รุ่น และหมวกนิรภัยสำหรับเด็ก จำนวน 5 รุ่น พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการประเมินแก่ผู้บริโภค และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รวมถึงหารือแนวทางการปรับปรุงคุณภาพหมวกกันน็อกกับหน่วยงานกำกับของรัฐ
ปัจจุบันทางทีมวิจัยกำลังพัฒนาปรับปรุงเกณฑ์การประเมินร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ และขยายผลการทดสอบประเมินไปยังหมวกกันน็อกรุ่นอื่นๆเพิ่มเติมเพื่อขยายฐานข้อมูลหมวกกันน็อกให้ผู้บริโภค รวมถึงหาแนวทางในการต่อยอดให้เกิดเป็นฉลากความปลอดภัยที่ติดบนหมวกกันน็อก