นิทรรศการ

NSTDA ANNUAL CONFERENCE 2025

เทคโนโลยีการกำจัดและการจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ติดต่อสอบถาม
ทีมวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยา (CAT)
ที่มาการวิจัย

สถานการณ์ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก สาเหตุหลักมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เข้าสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณที่มากขึ้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของไทยได้กำหนดกลยุทธที่จะทำให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ คือ การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่มีกลยุทธ์ย่อยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บ คาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานและภาคอุตสาหกรรม จะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065)

การใช้ประโยชน์
  • เทคโนโลยีการดักจับ และ การใช้ประโยชน์ คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 capture and utilization, หรือ CCUS) เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยกำจัดและเปลี่ยน CO2 เป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่มและวัสดุนาโนคาร์บอน ผ่านกระบวนการตั้งแต่การดูดซับ (adsorption) เพื่อดักจับ CO2 ผ่านวัสดุดูดซับกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความสามารถในการดูดซับก๊าซสูง เช่น MOFs และนำ CO2 ที่ได้ไปผ่านแพลทฟอร์มเทคโนโลยีการเร่งปฏิกิริยาเคมีด้วยความร้อน เคมีไฟฟ้า หรือแสง ผลิตภัณฑ์สำคัญทางอุตสาหกรรมที่ได้จากการเปลี่ยน CO2 เช่น เมทานอล แก๊สสังเคราะห์ (syn gas) เอทิลีน ยูเรีย กราฟีน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นหรือวัตถุดิบหมุนเวียนคาร์บอนต่ำในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พลาสติก ปุ๋ย และ พลังงาน
  • ถ่านหินชีวภาพ (biocoal) จัดเป็นเทคโนโลยีด้าน bioenergy with carbon capture and storage หรือ BECCS ทางทีมวิจัยได้พัฒนาต้นแบบกระบวนการผลิตถ่านหินชีวภาพกำลังการผลิตที่ 1 ตันต่อวัน ด้วยกระบวนการทอรีแฟคชันแบบแห้ง (dry torrefaction) โดยใช้ชีวมวล (biomass) กลุ่มไม้และวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรเป็นวัตถุดิบ ถ่านหินชีวภาพที่ผลิตได้จากผลงานนี้ (BioLight) มีค่าความร้อนสูงช่วง 19-27 MJ/kg สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงเสริมหรือทดแทนในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  โรงงานผลิตไฟฟ้าภาคส่วนต่างๆ เช่น พลังงานชีวมวล ถ่านหิน เป็นต้น คาดการณ์ว่า การใช้ถ่านหินชีวภาพทดแทนถ่านหินดั่งเดิมจะช่วยลดการปลดปล่อย CO2 ได้ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน CO2 equivalent ต่อปี
  • เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (SAF) ที่ได้จากการใช้วัตถุดิบกลุ่มไขมันและน้ำมันที่เป็นของเสียหรือของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มและอาหาร และกลุ่มแอลกฮออล์ เช่น ไบโอเอทนอล มาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีการใช้วัตถุดิบและกระบวนการผลิตที่มีการปลดปล่อย CO2 ต่ำตลอดวัฏจักรชีวิตผ่านเทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) และกระบวนการวิศวกรรมเคมีในการเร่งปฏิกิริยาเชิงความร้อน (thermal catalysis) เทคโนโลยี SAF จะสามารถช่วยลดการปลดปล่อย CO2 ได้มากกว่า 80% ให้กับอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ประเทศไทยกำลังออกข้อกำหนดในการเติม SAF ในเชื้อเพลิงอากาศยานในสายการบินที่ออกจากประเทศไทยเริ่มต้นที่ 1% ในปี พ.ศ. 2569 และเพิ่มขึ้นในปีถัดๆ ไป
ภาพและกราฟฟิก (Images and Graphics

Key: ภาวะโลกร้อน, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ , สารเคมีมูลค่าเพิ่ม, วัสดุนาโนคาร์บอน, ถ่านหินชีวภาพ, เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน