ที่มา/แนวคิด ของงานวิจัย
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทำการเกษตรเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งลดของเสียจากอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรจัดการ ผู้วิจัยจึงอาศัยความเชี่ยวทางด้านการออกแบบโครงสร้างโมเลกุลของสารคีเลต พัฒนาสารคีเลตที่จะนำไปจับกับแร่ธาตุจำเป็นสำหรับพืชให้เกิดเป็นสารเชิงซ้อนที่มีความเสถียร จากนั้นจึงนำสารคีเลตจุลธาตุอาหารมากักเก็บอยู่ในรูพรุนของเถ้าลอยซึ่งเป็นกากของเสียจากอุตสาหกรรม นอกจากจะสามารถบริหารจัดการกับของเสียจากอุตสาหกรรมได้แล้ว เถ้าลอยกักเก็บสารคีเลตธาตุอาหารรองเสริมดังกล่าว ยังพัฒนาต่อเป็นวัสดุปรับปรุงดินประสิทธิภาพสูงที่จะช่วยปรับโครงสร้างของดินและปลดปล่อยแร่ธาตุให้กับดินอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
รายละเอียด
การพัฒนาเทคโนโลยีกักเก็บสารคีเลตจุลธาตุอาหารในรูพรุนของเถ้าลอยเพื่อควบคุมการปลดปล่อย เพื่อพัฒนาเถ้าลอยกักเก็บสารคีเลตจุลธาตุอาหารสำหรับใช้เป็นสารปรับปรุงดินประสิทธิภาพสูง และทดสอบการปลดปล่อยของจุลธาตุอาหารจากรูพรุนของเถ้าลอยกักเก็บสารคีเลตจุลธาตุอาหาร (Release profile) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ปริมาณ และระยะเวลาในการปลดปล่อยธาตุอาหารพืชออกจากเถ้าลอย แล้ววัดประสิทธิภาพในการเร่งการเจริญเติบโตของพืชต้นแบบ 3 ประเภท ได้แก่ ยูคาลิปตัส (ตัวแทนของไม้ยืนต้น) บัวบก (ตัวแทนของพืชสมุนไพร) มะเขือเปราะ พริกจินดาแดง และ กะเพรา (ตัวแทนของพืชสวนครัว) เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประสิทธิภาพของเถ้าลอยกักเก็บสารคีเลตจุลธาตุอาหารในการปลูกพืช
จุดเด่น
ความเชี่ยวทางด้านการออกแบบโครงสร้างโมเลกุลของสารคีเลตของผู้วิจัย เพื่อพัฒนาสารคีเลตที่จะนำไปจับกับแร่ธาตุจำเป็นสำหรับพืชให้เกิดเป็นสารเชิงซ้อนที่มีความเสถียร จากนั้นจึงพัฒนากระบวนการกักเก็บสารคีเลตธาตุอาหารรองเสริมไว้ในรูพรุนของของเถ้าลอยซึ่งเป็นกากของเสียจากอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดเป็นสารปรับสภาพดินประสิทธิภาพสูงควบคุมการปลดปล่อย
การนำไปใช้ประโยชน์
ต้นแบบเชิงพาณิชย์ : วัสดุปรับปรุงดินควบคุมการปลดปล่อยสารคีเลตธาตุอาหารรองเสริมพืช เพื่อปรับสภาพดินและเร่งการเจริญเติบโตของพืช
กลุ่มเป้าหมาย
- กลุ่มอุตสาหกรรมทุกประเภท ที่เกิดของเสียในลักษณะเป็นเถ้าลอยขนาดเล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตร
สถานะงานวิจัย
- พร้อมต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
Key : เถ้าลอย อุตสาหกรรม วัสดุรูพรุน การกักเก็บ สารคีเลต อาหารพืช ปรับสภาพดิน การปลดปล่อย ธาตุอาหาร