คำบรรยายผลงานโดยย่อ
ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เป็นผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการวินิจฉัยรอยโรคจากภาพถ่ายทางการแพทย์ เพราะ AI มีศักยภาพในการประมวลผลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลภาพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้ช่วยแบ่งเบาภาระงานด้านการคัดกรองโรคเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี Medical AI Data Sharing Platform ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมเทคโนโลยีสำหรับสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ภายในแพลตฟอร์มประกอบด้วย 3 เทคโนโลยีหลัก ได้แก่
- เทคโนโลยีสำหรับจัดเก็บและแบ่งปันภาพถ่ายทางการแพทย์จากทั่วประเทศ
- เทคโนโลยีกำกับข้อมูลภาพถ่ายให้อยู่ในรูปแบบพร้อมใช้ผลิตโมเดล AI
- เทคโนโลยีสำหรับผลิตโมเดล AI ในรูปแบบใช้งานง่าย เพื่อลดการพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ลดเวลา และค่าใช้จ่ายในการผลิต
ที่มาของงานวิจัย
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับกรมการแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้ง Medical AI Consortium หรือ ภาคีเครือข่ายปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ อันประกอบด้วยหน่วยงานและบุคลากรด้านการแพทย์และการวิจัย เช่น กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยชั้นนำในประเทศไทย เพื่อดำเนินการรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลภาพถ่ายทางการแพทย์คุณภาพสูงของประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการทำวิจัยและผลิตระบบบริการ AI คัดกรองโรค สำหรับแบ่งเบาภาระงานให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ นำไปสู่การเพิ่มโอกาสให้ประชาชนไทยได้เข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต โดยได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
จุดเด่น/ประโยชน์ของเทคโนโลยี
- เสริมสร้างความร่วมมือการพัฒนาระบบ AI สำหรับใช้งานด้านการแพทย์
- สร้างคลังข้อมูลทางการแพทย์ ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ
- ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการสาธารณสุข
ภาพประกอบ


วิจัยพัฒนาโดย
- ทีมวิจัยการประมวลผลและเข้าใจภาพ (IPU) กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ (AINRG)
- ทีมวิจัยการวิเคราะห์ยุทธศาสตร์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (SAI)
- ทีมวิจัยการจำลองและระบบขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (DSS) กลุ่มวิจัยวิทยาการข้อมูลและการวิเคราะห์ (DSARG)
- ทีมวิจัยระบบสร้างภาพทางการแพทย์ (MIS) กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED)
- ทีมวิจัยสมองกลอัจฉริยะและความจริงเสมือน (SMR) กลุ่มวิจัยไอโอทีและระบบอัตโนมัติสำหรับงานอุตสาหกรรม (IIARG)
- งานยกระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (LTSS) ฝ่ายสนับสนุนบริการและเทคโนโลยี (TSS)
Keyword: Medical AI, Data sharing, Model AI