การสร้างกำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Workforce) เป็นที่ต้องการอย่างมากในภาคอุตสาหกรรม และภาคเอกชน จึงต้องมีการสร้างบุคลากรที่มีทักษะด้าน AI ภายใต้หลักสูตรระยะสั้น และบ่มเพาะทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ (Hard Skill & Soft Skill) ซึ่งสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมได้จริง มีศักยภาพทัดเทียมระดับสากล ภายใต้กำลังคน 3 กลุ่ม ได้แก่ นวัตกร (AI Innovator) วิศวกร (AI Engineer) และนักวิจัยระดับสูง (AI Researcher) พร้อมต่อยอดเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (AI Solopreneur/AI Entrepreneur) และเป็นผู้มีทักษะในการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้ได้ (AI Instructor) และธุรกิจเริ่มต้นในด้าน AI และหุ่นยนต์ ให้สามารถนำไปใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้จริง เช่น การแพทย์ พลังงาน การเงิน และเทคโนโลยีดิจิทัล โครงการ Super AI Engineer จะจัดทำหลักสูตรและการอบรม ครอบคลุมบุคลากรทุกเพศทุกวัยและทุกสายอาชีพ และยังตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมทั้ง 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่แค่ต้องการให้รู้ว่าปัญญาประดิษฐ์คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร สามารถใช้งานเครื่องมือด้านปัญญาประดิษฐ์ที่มีอยู่ได้ ระดับกลางที่มีทักษะในการเขียนโค้ดขั้นพื้นฐาน สร้างโมเดลหรือเครื่องมือด้านปัญญาประดิษฐ์ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งาน และระดับสูงที่มีทักษะในการเขียนโค้ดเพื่อแก้ไขปัญหาได้จริง รวมถึงสร้างองค์ความรู้ด้านปัญญาประดิษฐ์ได้
ที่มาของงานวิจัย
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความจำเป็นที่นำมาใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศในทุกหน่วยงานและภาคส่วน เพื่อให้เกิดความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับชาติและนานาชาติ การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งถือว่ายังขาดแคลนอย่างมากในปัจจุบัน ย่อมมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญต่อการวางรากฐาน และถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานของกลไกการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมาโครงการการพัฒนากำลังคนด้านปัญญาประดิษฐ์ (Super AI Engineer) จากการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ได้พัฒนากำลังคนออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูง ดังนั้นทางโครงการ ฯ จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะสูงขึ้นกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเรียกว่า “Super AI X” เพื่อให้เกิดความแข็งแกร่ง มีศักยภาพทัดเทียมต่างประเทศหรือระดับสากลได้ ภายใต้กำลังคน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มนวัตกร (AI Innovator) กลุ่มที่สามารถใช้เครื่องมือ AI หรือ API สร้างเป็นนวัตกรรมหรือแก้ไขโจทย์ปัญหาอย่างง่ายได้ 2) วิศวกร (AI Engineer) กลุ่มที่สามารถสร้างหรือพัฒนาแบบจำลอง (Model) แล้วประยุกต์กับงานภาคอุตสาหกรรมได้ 3) นักวิจัย (AI Researcher) กลุ่มที่สามารถเผยแพร่ องค์ความรู้ ผลงานวิจัยสู่ระดับสากลได้ โดยทั้งสามกลุ่มสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI Instructor) และสามารถพัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการอิสระ (AI Solopreneur) หรือผู้ประกอบการ (AI Entrepreneur) ได้
จุดเด่น/ประโยชน์ของเทคโนโลยี
- การยกระดับประสิทธิภาพอุตสาหกรรม ซึ่ง AI สามารถช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน
- การพัฒนาระบบอัจฉริยะในภาคบริการ ช่วยเพิ่มประสบการณ์ของลูกค้า และลดภาระของเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย AI Startup ในการพัฒนาบุคลากรด้าน AI จะช่วยส่งเสริมการเกิดธุรกิจ Startup ที่ใช้ AI ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ
- การส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การใช้ AI ในระบบเครือข่ายและอินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (IoT) จะช่วยปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และรองรับการพัฒนา Smart City ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพประกอบ
ภาพที่ 1 ภาพรวมโครงการ Super AI Engineer Season 1-4

ภาพที่ 2 ภาพบรรยากาศ โครงการ Super AI Engineer Season 1-4
ภาพที่ 3 Super AI X Eco-System Concept


ภาพที่ 4 จำนวนผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ Super AI X

วิจัยพัฒนาโดย
- ทีมวิจัย สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
Keyword: Super AI, AI Workforce, AI Innovator, AI Engineer, AI Researcher, AI Solopreneur/AI Entrepreneur, AI Instructor