นักวิจัย
นางสาวรัศมี หวะสุวรรณ และ นายอลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน
ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ที่มา ข้อมูลเบื้องต้น ความสำคัญของปัญหา
สูตรชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียมรูปแบบเดิมใช้วัสดุรองรับที่เป็นดินขาวไม่ละลายน้ำ พบปัญหาการตกตะกอนและอุดตันหัวฉีดพ่น ไม่สามารถนำมาใช้กับระบบน้ำหยดหรือสปริงเกลอร์ได้ อีกทั้งพบปัญหาการทิ้งคราบบนใบพืชหรือผลผลิต และเมื่อเก็บรักษาที่อุณหภูมิสูง 35 องศาเซลเซียส นานกว่า 16 สัปดาห์ พบปัญหาการเสื่อมคุณภาพโดยพบจำนวนสปอร์ต่ำกว่ามาตรฐานที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดคือ 1 x 108 ซีเอฟยู/กรัม ส่งผลให้ประสิทธิภาพการเข้าทำลายแมลงลดลงเช่นกัน ทีมวิจัยจึงพัฒนาชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียมที่ละลายน้ำเพื่อจัดการแมลงศัตรูพืชนี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยชีวภัณฑ์สามารถละลายน้ำได้ง่ายรวมถึงช่วยยืดอายุการเก็บรักษาที่อุณหภูมิสูงได้ยาวนานกว่าเมื่อเทียบกับชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียมที่มีมาก่อน
คุณสมบัติและจุดเด่นเทคโนโลยี
- สูตรชีวภัณฑ์ในรูปแบบผงที่ละลายน้ำได้ดี เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการใช้ชีวภัณฑ์ให้กับเกษตรกร ลดปัญหาการอุดตันหัวฉีดพ่นและคราบตกค้างบนพืชและผลผลิต รวมถึงการนำไปใช้กับระบบน้ำหยดหรือสปริงเกลอร์ ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานและลดต้นทุนแรงงาน
- เก็บรักษาที่อุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส (คงที่) ได้นานกว่า 5 เดือนครึ่ง (22 สัปดาห์) โดยคงคุณภาพของสปอร์เทียบเท่าการเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25-30 องศาเซลเซียส เป็นเวลามากกว่า 1 ปี
- คงประสิทธิภาพในการทำลายแมลงได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 แม้เก็บที่อุณหภูมิสูง 40 องศาเซลเซียส คงที่ นานกว่า 8 สัปดาห์
สถานภาพทรัพย์สินทางปัญญา
- อนุสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 2403002833 วันที่ยื่นคำขอ 3 กันยายน 2567 เรื่อง ชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียมที่ละลายน้ำสำหรับกำจัดศัตรูพืช และกรรมวิธีการเตรียมชีวภัณฑ์ดังกล่าว
- ความลับทางการค้า
สถานภาพของผลงานวิจัย
- ต้นแบบระดับห้องปฏิบัติการได้ถูกทดสอบในสภาวะจำลอง
ความร่วมมือที่เสาะหา
- เสาะหาผู้รับอนุญาตใช้สิทธิ/ผู้ร่วมทดสอบ

ภาพที่ 1 ลักษณะผงหัวเชื้อราเมตาไรเซียม (ก) และชีวภัณฑ์ราเมตาไรเซียมสูตรที่ละลายน้ำในการประดิษฐ์นี้ (ข) รวมถึงโคโลนีราเมตาไรเซียมในชีวภัณฑ์รูปแบบผงที่ผ่านการทดสอบยืดอายุเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 40 °ซ เป็นระยะเวลาถึง 22 สัปดาห์ โดยยังพบโคโลนีราเมตาไรเซียมที่สมบูรณ์อยู่ถึงแม้จะถูกเก็บเกือบ 6 เดือนที่ 40 °ซ

ภาพที่ 2 ลักษณะการละลายและความใสเมื่อเทียบกับสูตรเดิมที่ใช้ดินขาว โดยอัตราส่วนที่ใช้จริงคือ 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร (ที่สัดส่วนหัวเชื้อผง 5%w/v)